วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

การเดินผิดปกติของผู้สูงอายุ

การเดินผิดปกติของผู้สูงอายุและภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง

การเดินผิดปกติของผู้สูงอายุ


   เชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นผู้สูงอายุเดินผิดปกติหรือเดินไม่ได้ ส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารที่เสื่อมลงตามวัย แต่ในข้อเท็จจริงนั้น ผู้สูงอายุบางคนเดินไม่ได้เนื่องจากเจ็บป่วยมีโรคที่ทำให้เดินไม่ได้ ซึ่งโรคหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย และสามารถรักษาให้กลับมาเดินได้ดีอีกครั้งคือโรคน้ำเกินในโพรงสมอง

1. ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง คืออะไร
            สมองของมนุษย์นั้นไม่ใช่ก้อนเนื้อตัน แต่จะมีโพรงน้ำอยู่ภายใน  น้ำดังกล่าวคือน้ำหล่อสมองและไขสันหลัง ซึ่งในที่นี้จะเรียกสั้นๆ ว่าน้ำ น้ำดังกล่าวจะทำหน้าที่ดูดซับแรงกระเทือน และถ่ายเทสารเคมีหลายอย่าง ในสภาวะที่การดูดซึมของน้ำผิดปกติไปก็จะมีน้ำคั่งดันโพรงสมองให้โตผิดปกติ และเกิดภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง

2. ภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง มีอาการอย่างไร
            โรคนี้มักจะเป็นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการเดินผิดปกติ เช่น เดินช้า ก้าวขาไม่ออก ยกขาไม่พ้นจากพื้น เดินซอยเท้า ทรงตัวไม่ดี ล้มบ่อย คนไข้บางคนมาโรงพยาบาลด้วยเรื่องล้มบ่อยๆ โดยไม่รู้ว่ามีโรคนี้แอบแฝงอยู่ การเดินจะแย่ลงช้าๆ จนอาจจะเดินไม่ได้เลยในท้ายที่สุด นอกจากเรื่องเดินผิดปกติแล้วผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาสมองเสื่อม ญาติอาจจะสังเกตว่าคนไข้มีสมาธิสั้น เฉื่อยชา ไม่ค่อยสนใจ รวมทั้งมีความจำที่แย่ลง หลงลืม ในระยะท้ายผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาปัสสาวะราด โดยอาจจะปัสสาวะออกมาโดยไม่บอก หรือปัสสาวะราดออกมาโดยที่เข้าห้องน้ำไม่ทัน

3. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะน้ำเกินในโพรงสมอง         
            ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดินร่วมกับสติปัญญาลดลง หรือปัสสาวะราดคือผู้ที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะมีโรคนี้และสมควรได้รับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) ถ้าแพทย์พบว่าขนาดของโพรงสมองจาการตรวจดังกล่าวโตผิดปกติจะถือว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคนี้ และจะแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติมหรือทำการรักษาต่อไป

4. โรคน้ำเกินในโพรงสมองรักษาอย่างไร
            โรคน้ำเกินในโพรงสมองนั้น มีหนทางรักษาคือ การผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำจากโพรงสมองเข้าสู่ช่องท้อง หรือผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำจากช่องไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง แพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยและครอบครัว

5. การผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
            โดยทั่วไปการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำเข้าสู่ช่องท้องนี้ เป็นการผ่าตัดที่มีบาดแผลเล็ก เกือบจะไม่มีการสูญเสียเลือด และใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้นจึงเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะกรณีผ่าตัดชนิดฝังท่อจากไขสันหลังเข้าสู่ช่องท้อง จะมีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากไม่ต้องทำการเจาะบริเวณสมอง ความเสี่ยงจากการผ่าตัดมักไม่ใช่ความเสี่ยงของการผ่าตัดโดยตรง แต่มักเป็นความเสี่ยงอันเนื่องจากการมีโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุบางรายมีโรคหัวใจร่วมด้วยก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดเพิ่มขึ้น

6. หลังจากผ่าตัดแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
            ผู้ป่วยมักจะนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่วันเท่านั้นและแพทย์จะนัดมาทำการตัดไหมในภายหลัง
ท่อระบายน้ำที่ฝังอยู่ในร่างกายมีให้เลือกอยู่ 2 ประเภทคือ ชนิดที่ปรับแรงดันไม่ได้ และชนิดที่ปรับแรงดันได้ ท่อชนิดที่ปรับแรงดันได้ มีข้อดีคือ ถ้าการระบายน้ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป แพทย์สามารถที่จะปรับเปลี่ยนการระบายน้ำได้โดยใช้อุปกรณ์แม่เหล็กไร้สายจากภายนอกร่างกาย และไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนท่ออันใหม่ แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาประเมินความคืบหน้าของอาการเป็นระยะๆ ร่วมกับปรับเปลี่ยนการระบายน้ำตามความจำเป็น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ท่อชนิดปรับแรงดันได้ สมควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้อุปกรณ์แม่เหล็กที่มีกำลังสูง เช่น เครื่องตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI)
ผู้ป่วยสูงอายุที่เดินไม่ได้มาเป็นเวลานานจะมีกล้ามเนื้อขาลีบและอ่อนกำลัง ถึงแม้ว่าหลังจากผ่าตัดแล้ว สมองจะสามารถส่งคำสั่งมาควบคุมขาให้เดินได้ดีแล้วก็ตาม แต่ถ้ากล้ามเนื้อขาอ่อนกำลัง การเดินที่ดีย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นการทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกยืน ฝึกเดินจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยอาจต้องอดทนและทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายเดือนจึงจะเริ่มเห็นผล (ผู้ที่สนใจอยากได้ DVD การฝึกยืนและเดิน สามารถรับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากผู้เขียน ที่ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 3 ประสาทศัลยศาสตร์ รพ.ศิริราช)

7. หลังจากผ่าตัดแล้วการเดิน หลงลืม และปัสสาวะราดจะดีขึ้นแน่นอนหรือไม่
          การเดินผิดปกติของผู้สูงอายุนั้น นอกจากโรคน้ำเกินในโพรงสมองแล้ว ยังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเข่าเสื่อม โรคกระดูกสันหลัง เป็นต้น  นอกจากนี้อาการหลงลืมและปัสสาวะราดจากโรคน้ำเกินในโพรงสมองอาจจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคอัลไซเมอร์ และต่อมลูกหมากโตตามลำดับ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุอยู่แล้ว ทำให้การวินิจฉัยภาวะน้ำเกินในโพรงสมองทำได้ลำบาก และไม่สามารถ (ฟันธง) วินิจฉัยได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่เป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมองจริงผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นหลังผ่าตัด แต่ถ้าไม่ใช่โรคน้ำเกินในโพรงสมองคือเป็นโรคอื่น แต่ได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคนี้อาการจะไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด ดังนั้นเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะจัดแบ่งความเป็นไปได้ของโรคเป็น 3 ระดับคือ
            7.1 มีแนวโน้มเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Probable)
            7.2 อาจเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Possible)
            7.3 ไม่น่าเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Unlikely)
ในกรณีที่แพทย์คิดว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มมีแนวโน้มเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Probable) แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่อาการจะดีขึ้นหลังผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มไม่น่าเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Unlikely) แพทย์จะไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัด และให้เฝ้าสังเกตอาการต่อไป ส่วนในกรณีก่ำกึ่งที่อาจเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Possible) นั้น แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทดสอบเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลัง เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าสมควรทำการผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำต่อไปหรือไม่

8. การทดสอบเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลัง
            คนไข้ที่ก่ำกึ่งว่าอาจเป็นโรคน้ำเกินในโพรงสมอง (Possible) แพทย์มักจะแนะนำให้ทดสอบเพิ่มเติมโดยการเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลัง และประเมินดูว่าการเดินหรือภาวะสมองเสื่อมดีขึ้นชั่วคราวหลังเจาะระบายน้ำหรือไม่ ถ้ามีการตอบสนองในทางที่ดีขึ้นก็มีแนวโน้มสูงว่าหลังผ่าตัดฝังท่อระบายน้ำเข้าสู่ช่องท้องอาการจะดีขึ้นจริง
            การเจาะระบายน้ำจากช่องไขสันหลังดังกล่าว เป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายโดยการฉีดยาชา มีความเสี่ยงต่ำ และไม่ใช่การทำผ่าตัด แพทย์อาจจะทำการเจาะเพียงครั้งเดียวหรือมากกว่า 1 ครั้ง หรืออาจจะสอดสายระบายชั่วคราว 3 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของการเจาะครั้งแรก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น